พบสารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้ง “เอนไซม์ไทโรซิเนส” ทำให้ผิวขาว
ไทโรซิเนส เป็นเอนไซม์ที่พบ ในสิ่งมีชีวิต หลายชนิด ใน
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เอนไซม์นี้ มีหน้าที่ สร้างเม็ดสี ให้
ผิวหนัง ผม และ ตา ในพืชผักผลไม้ ไทโรซิเนส เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดสีหมองคล้ำ เมื่อถูกกระแทก หรือขีดข่วน ในแมลง เอนไซม์ชนิดนี้ เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน การวิจัย เพื่อหาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงอาจนำไปสู่ การค้นพบ สารที่มีฤทธิ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์หลายชนิด เช่น นำสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ไปพัฒนาเป็นสารช่วยให้ผิวขาว เป็นสารปกป้องการหมองคล้ำของอาหารประเภท พืช ผัก ผลไม้ หรือเป็นสารที่ใช้ควบคุมการเจริญของแมลง
สารที่มีคุณสมบัติลดสีผิว และช่วยทำให้ผิวขาว มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ ทั้งนี้ สารที่ทำให้เกิดผิวขาว ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ สารขจัดสีผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรสิเนส ซึ่งทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยา ตั้งต้นของกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน สารเหล่านี้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาแพง
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษาวิจัยสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส โดยพบว่า สารธรรมชาติในกลุ่มสติลบีนหลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส สารดังกล่าวมีทั้งที่ได้จากธรรมชาติและจากการสังเคราะห์ และพบว่า สารออกซิเรสเวอราทรอล ที่สกัดจากแก่นของมะหาด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย สามารถยับยั้งการเกิดของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้มากถึง ๑๐ เท่า จากการทดลองในสัตว์และมนุษย์ในระยะสั้นพบว่า สามารถทำให้ผิวขาวได้มากขึ้นและเร็วกว่าสารสกัดจากชะเอมที่ใช้ในเครื่องสำอางโดยทั่วไปและไม่เกิด ผลกระทบต่อผิวหนัง ซึ่งในตำรายาไทยแก่นของมะหาดจะใช้ชื่อทางยาว่า โป่งหาด มีสรรพคุณในการถ่ายพยาธิ ขณะนี้การผลิตสารออกซิเรสเวอราทรอลในเชิงพาณิชย์ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากอาจมีกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต้องตัดต้นมะหาดเพื่อนำแก่นของต้นมาสกัดสารดังกล่าว
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์บำรุงผิวใช้สารที่ออกฤทธิ์ทำให้ผิวขาวมีหลายชนิด เช่น สารสกัดจากชะเอม สารสกัดจากเชื้อรา ซึ่งที่ผ่านมายังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย และมีกลไกในการออกฤทธิ์ต่างกันข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวคือ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาและมีฉลากที่ถูกต้อง รวมถึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทซึ่งอาจเกิดอันตราย
ปัจจุบันการศึกษาวิจัยสารสกัดจากแก่นมะหาดอยู่ในขั้นตอนการทดลองพัฒนา ตลอดจนศึกษาถึงประสิทธิภาพและความคงตัวเมื่ออยู่ในสูตรตำรับต่างๆ เปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นสารสกัดจากแก่นมะหาดที่เหมาะสมสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิธีการสกัดสารจากแก่นมะหาดให้มีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก : ข่าวประชาสัมพันธ์ ส่วนส่งเสริมและพัฒนาวิจัย สำนักบริหารวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่: Sun May 11 01:18:33 ICT 2025
|
|
|